จับงานใหญ่ต้องใช้ฤกษ์
เวลาและสถานที่เป็นสิ่งที่ต้องใช้ควบคู่กันไปไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เพราเป็นการเริ่มกำหนดจุดสมมติซึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันของมนุษย์ทั้งโลก ไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็ตาม แล้วขั้นตอนต่อไปจึงจะลงรายละเอียดว่า เวลาอะไร สถานที่ใดกันแน่ เรียกว่าถือกันเป็นหมายกำหนดการ ท้องฟ้าทรงกลมนั้น มนุษย์เราสังเกตปรากฎการณ์บนท้องฟ้าในเวลากลางคืนจากกลุ่มดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบ ระบบแรกแบ่งท้องฟ้าออกเป็น 12 ราศีหรือ 12 เดือน แล้วให้ดวงอาทิตย์และบริวารซึ่งเป็นดาวเคราะห์โคจรไปรอบๆ ท้องฟ้า แล้วกำหนดช่องราศีเป็นหลัก โดยไม่ได้คิดถึงดาวฤกษ์อื่นๆ เรียกว่า ระบบจักรราศี ส่วนระบบที่สอง เป็นการแบ่งจำนวนดาวฤกษ์ที่เป็นเป็นกลุ่มๆ บนท้องฟ้าออกเป็น 27 กลุ่ม แล้วใช้พระจันทร์ซึ่งโคจรอยู่บนท้องฟ้า สังเกตเห็นได้ในเวลากลางคืน โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ เรียกว่าระบบจันทรคติ
ทางตะวันตก เช่น กรีก โรมัน การนับปีใหม่กำหนดจากระบบสุริยคติ แต่ในทางซีกโลกตะวันตก เช่นจีน อินเดีย ใช้ระบบจันทรคติ ดังนั้นในปฏิทินจึงต้องมีทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป ว่ากันคร่าวๆ เพื่อให้รู้ว่าที่มาของฤกษ์คืออะไร มาจากไหนแล้ว ก็มาเข้าระบบที่เกริ่นกำหนดไว้ตอนแรกว่า คนโบราณเขาใช้นาฬิกาธรรมชาติ คือ พระจันทร์ เป็นเครื่องนัดหมายประกับงานพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะพิธีกรรมทางศาสนา ในพุทธศาสนาเราจะได้ยินคำว่า มาฆะบูชา วิสาขะบูชา และ อาสาฬหะบูชา ก็แน่นอนล่ะว่าทั้ง 3 ชื่อก็เป็นชื่อกลุ่มดาวฤกษ์ในสมัยอินเดียโบราณกำหนดขึ้น ได้แก่ จันทร์เสวยมาฆะฤกษ์, วิสาขะฤกษ์ และ อาสาฬหะฤกษ์ ตามลำดับ ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 เดือน 6 และเดือน 8 ของทุกปี ยิ่งในอินเดียแล้ว ประเพณีอย่างนี้ยังมีอีกมาก ซึ่งจีนและอิสลามก็ใช้พระจันทร์เป็นเกณฑ์กำหนดพิธีกรรมทางศาสนาเช่นกัน คนโบราณนั้นเป็นคนช่างสังเกตและมักจะเก็บสถิติต่างๆ ว่าการนัดหมายเวลาเท่าใด งานที่กระทำจะสำเร็จหรือมีอุปสรรค เพื่อเป็นข้อสังเกตสำหรับชนชาติของตนสะสมกันลงมารุ่นแล้วรุ่นเล่าจนถือเป็นหลักวิชาขึ้นมา แต่คงจะยังไม่เป็นระบบสถิติอย่างในปัจจุบันนี้ ถึงกระนั้นก็พัฒนาระบบฐานข้อมูลนี้เป็นวิชาในสาขาโหราศาสตร์ขึ้นมา ซึ่งสมัยนั้น โหราศาสตร์ และ ดาราศาสตร์ยังไม่แยกจากกันอย่างเด็ดขาดเหมือนในปัจจุบัน
เมื่อพิธีกรรมสำคัญๆ ทางศาสนายังต้องใช้การนัดหมายกันด้วยเวลาพระจันทร์ผ่านดาวฤกษ์ หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ใช้ฤกษ์ แล้ว และมีแบบแผนด้วยว่า งานอะไรควรใช้ฤกษ์อะไร โดยแบ่งฤกษ์นี้ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนละ 9 ฤกษ์ และใน 9 ส่วนนี้มีชื่อ 1.ฤกษ์ผู้ขอ (ทลิทโท) 2.ฤกษ์เศรษฐี (มหัทธโน) 3.ฤกษ์โจร (โจโร) 4.ฤกษ์เพาะปลูก (ภูมิปาโล) 5.ฤกษ์กะหรี่ (เทศาตรี) 6.ฤกษ์หญิงสาว (เทวี) 7.ฤกษ์ฆ่า (เพชฌฆาต) 8.ฤกษ์หัวหน้า (ราชา) และ ฤกษ์นักบวช (สมโณ) ดังนั้นจึงถือมาแต่โบราณกาลว่ากิจการใดควรใช้ฤกษ์ให้ตรงกับกิจการนั้น ทั้งนี้เพื่อให้บรรยากาศเป็นใจ และเื่มื่อบรรยากาศกับความรู้สึกเป็นใจให้กันแล้ว อุปสรรคต่างๆ ก็จะลดลง เพราะความรู้สึกเป็นต่อนั่นเอง เรื่องอย่างนี้มีหลักการเป็นหลักวิชาต่างหาก แยกออกไป เพราะวิชาฤกษ์เป็นเรื่องใหญ่ (ผู้สนใจสามารถติดตามบทความเรื่อง ลงลึกเรื่องฤกษ์ ได้ในคอลัมน์โหราน่ารู้ ซึ่งจะทยอยค้นคว้าเขียนมาลงให้ผู้สนใจได้ศึกษา) เมื่อรู้ฤกษ์แล้วว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรแบบสังเขป
ทีนี้ก็เหลือว่าจะใช้ฤกษ์อย่างไรในการประกอบกิจการ ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเพราะต่างคนต่างก็มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่สำนักนี้ (สำนักเจาะดวงด็อทคอม) ใช้ทั้ง 2 ระบบในการกำหนดฤกษ์ นอกจากจะใช้ฤกษ์ในการกำหนดหมายกำหนดการให้เหมาะสมแล้ว ฤกษ์นั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์ของดาวเคราะห์มาสนับสนุนให้ดีด้วย เพราะจากการสังเกตพิธีการต่างๆ ที่ใช้ฤกษ์อย่างเดียวในการกำหนดการงานสำคัญ แล้วมาผูกดวงดูว่าลัคนาอยู่ราศีใด ก็ยังมีจุดต่างๆ บางจุดทางดาวเคราะห์กลับเสียหาย และก็แน่นอนคือว่า งานนั้นก็มีอุปสรรคจริงๆ สถิติเหล่านี้มีให้เห็นมากมาย จนเชื่อเป็นหลักได้ว่า นอกจากว่าฤกษ์ให้เหมาะสมแล้ว เรื่องโยคเกณฑ์ทางโหรก็สำคัญอย่างยิ่งยวด ต้อง?ให้สอดคล้องกัน อีกทั้งฤกษ์แต่งงานแม้จะใช้ดิถีเคียงหมอน หรือฤกษ์แมลงปอในการ?พิธีแต่งงาน ส่งหอ แล้วก็ยังมีการหย่าร้างให้เห็นอยู่บ่อยๆ
เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และต้องศึกษาให้ถ่องแท้ ต้องดูทั้งดาวเจ้าชะตา, งานที่ใช้กำหนด, ฤกษ์ และโหราศาสตร์ควบคู่กันไป อีกทั้งพิธีกรรมต่างๆ ต้องมีผลสนับสนุนทางดวงดาว เช่น ฤกษ์เปิดร้านเสริมสวย ให้พระสงฆ์เจิมป้าย ร้านไหนร้านนั้น ไม่นานก็ต้องเลิกปิดกิจการ เพราะแม้จะตั้งใจดี ต้องการทำบุญ แต่พระสงฆ์ทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ปลอดกาม แล้วจะไปเปิดร้านที่ปรุงกาม (เสริมสวย) ก็ถือว่าพิธีกรรมเป็นศูนย์ ขั้นต้นก็มีอุปสรรคเสียแล้ว หรือฤกษ์แต่งงานยิ่งแล้วกันใหญ่ ต้องดูดาวสมพงษ์ด้วยแล้วหาทางปรับเวลาส่งตัวออกไป ยิ่งสมัยใหญ่มีการทดลองอยู่ด้วยกันก่อน เรียกว่าได้เสียกันเรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว ฤกษ์แต่งงานจะนำมาใช้ได้อย่างไร ต้องปรับไปเป็นเรื่องงานอื่น จึงจะได้
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งในปัจจุบันก็คือ การจะหาฤกษ์กับวันกำหนดงานที่คาดเอาไว้มักจะไม่ตรงกัน เรียกว่าไม่สะดวก เช่นกลางวันกลางคืน หรือตรงกับวันหยุด กว่าจะหาให้ตรงกับหลักวิชาก็เนิ่นนานไปกันใหญ่ แล้วหลักการเรื่องนี้เป็นเพราะผู้ให้ฤกษ์ไม่เข้าใจเรื่องโลกหมุนดาวเดิน มักจะใช้จังหวะโลกหมุนรอบดาวอาทิตย์เป็นเกณฑ์ ทั้งๆ ที่มีหลักโลกหมุนรอบตนเองใน 1 วัน เที่ยงแทนกันได้อย่างลงตัว (วิชานี้อยู่ในเรื่อง โหราศาสตร์แบบสิบลัคนา ที่ผู้เขียนอาจจะทยอยนำมาลงในโหราน่ารู้) ถ้าเข้าใจจุดนี้แล้วสามารถกำหนดฤกษ์ได้ทุกวันเช่นกัน บทความนี้อาจจะหนักไปหน่อย แต่ก็ต้องกล่าวถึงเพราะว่างานใหญ่ๆ สำคัญๆ นั้น ในช่วงชีวิตคนมีไม่กี่ครั้ง บางทีก็มีครั้งเดียว แม้เจ้าของงานจะต้องการใช้ฤกษ์ แต่ก็เจอการใช้แบบสุกเอาเผากิน หรือไม่รอบรู้ทะลุลึก ก็จะเสียการงานนั้น เพราะเจ้าของงานก็เชื่อผู้รู้ แต่ผู้รู้ก็เกิดจะมีหลายระดับเสียด้วย เจอดีก็ดีไป แต่ถ้าเจอผู้ที่นึกว่า หรือตั้งตนว่ารู้ แล้วเกิดไม่รู้จริงก็จะเป็นหนูทดลองวิชาเสียเปล่าๆ
( เล่าประสบการณ์ของคุณให้เรามั่งสิ : กระดานโหรา )