วิวัฒนาการองค์ความรู้แห่งโหรสยาม (2)
โดย ภารต ถิ่นคำ
บทความนี้ถูกนำลงในพยากรณ์สาร นิตยสารของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย
ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2546
วิทยาการโหราศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคคำนวณและภาคพยากรณ์ ในภาคคำนวณนั้น ได้แก่การทำปฏิทินดาว หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าปฏิทินโหราศาสตร์ ดังนั้นโหรสมัยก่อนต้องแตกฉานวิชาการ ทำปฏิทินโหร โดยต้องเรียนจากคัมภีร์พระสุริยยาตร์และมานัตต์ ซึ่งกว่าจะถูกดวงได้ แต่ละดวง โหรแต่ละท่าน จะต้องคำนวณขึ้นมาด้วยตัวเองทั้งสิ้น ยิ่งสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องคิดเลข หรืออาจจะใช้ลูกคิดจีนบ้าง กว่าจะได้ดวงสักดวง ก็ต้องใช้เวลาไปอย่างมากทั้งสิ้น พวกหลวงอรรถวาทีธรรมปริวรรต จัดทำปูมโหรแบบใหม่ ที่เรียกกันว่า ปฏิทินโหราศาสตร์ไทย พ.ศ. 2417 ถึง พ.ศ. 2479 ขึ้นก็ทำให้โหรานุโหรทั้งหลาย ต่างสดวกในการผูกดวง ได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อสิ้นหลวงอรรถฯแล้ว มีผู้พยายามจัดทำปฏิทินโหราศาสตร์กันอีกหลายท่าน เช่น หลวงวิศาลดรุณกร ( อั้น สาริกบุตร ) และเทพย์ สาริกบุตร รวมทั้งของสมาคมโหรแห่งประเทศไทย แต่ก็เป็นการแปลงจากปฏิทินโหร ของต่างประเทศ เช่น ของ เทพย์ สาริกบุตร ก็แปลงมาจาก ปฏิทินของราฟาเอล อังกฤษ ส่วนของสมาคมโหรฯ ก็แปลมาจาก ปฏิทินโหรโหรอินเดียชื่อ ลาหิรี ซึ่งเป็นปฏิทินที่ทางรัฐบาลอินเดียให้การรับรอง โดยมีการตัดปรับค่ามุม อายนางศะ ซึ่งเป็นค่ามุมต่างของระบบสายนะที่ใช้ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางและ ระบบนิรายณะที่ใช้โลกเป็น ศูนย์กลางที่โหรไทยเราใช้ๆกันอยู่ โดยอ้างว่ามุมของตำแหน่งดวงดาวถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะสามารถ ตรวจเช็คได้โดยการส่องกล้อง โดยที่คัมภีร์สุริยยาตร์เดิมนั้น เนื่องจากมีกฏเกณฑ์ตัวเลขมากมาย และยากแต่การศึกษา มีการคำนวณที่สลับซับซ้อนยังไม่มีใครทำต่อ
จนกระทั้ง ทองเจือ อ่างแก้ว ใช้เวลาศึกษาคัมภีร์สุริยยาตร์และมานัตต์ จากอาจารย์ถึง 5 ท่าน เป็นเวลา 3 ปี คือจาก พระยาโหราธิบดี ( ชุ่ม โชติวิท ) ซึ่งเป็นเจ้าของตำราฤกษ์ หลวงอนุสนธินนทิการ ( เจิม โชติวิท ) พันเอกหลวง วิภาครัฐกิจ ( ศุข เมนะรุจิ ) หะยีอิสมาแอล ฮาซาไนน์ ซึ่งสอนโหราศาสตร์อาหรับ และพลเรือโทประเวศ โภชนสมบูรณ์ ซึ่งสำเร็จโรงเรียนนายเรือจากเยอรมัน เป็นผู้สอนดาราศาสตร์เยอรมัน โดยคำนวณตำแหน่งขดงดวงจันทร์ตามสูตรของ Dr.Chrump ซึ่ง ทองเจือ อ่างแก้ว ใช้เวลาเรียนวิชาจาท่านอาจารย์เหล่านี้จนแตกฉาน แล้วหาวิธีทำปฏิทินโหราศาสตร์ ตามแนวคัมภีร์พระสุริยยาตร์ สำเร็จ 100 ปี ซึ่งใช้เวลาจัดสร้างด้วยตนเองเป็นเวลา 11 ปีกว่าจึงแล้วเสร็จ
คัมภีร์พระสุริยยาตร์นั้น มีประวัติเล่ากันมาว่า มีมาแต่โบราณกาลนับถึง ท่านฮิปปาคัส สมัยอิยิปต์ ( กว่า 3000 ปี ก่อนคริศตกาล ) สมัยนั้นใช้มุมคำนวณถึง 126 มุม กว่าจะหาตำแหน่งพระเคราะห์ได้ ต่อมาจนถึงสมัยเปอร์เซีย มีปราชญ์ชื่อ ท่านโอมาคัยยัม ตัดวิธีการคำนวณ ย่อลงเหลือ 84 มุม กว่าจะหาตำแหน่งดาวเคราะห์ได้มีผลลัพธ์ เหมือนกัน จนถึงกลียุคศักราช 3739 พระเจ้าบุรพโสระหันแห่งอาณาจักรพุกาม แก้จาก 84 มุม ลงมาเหลือ 26 มุม และท่านสวามีวิชัยราคะวุลล์ แปลงจนมาเหลือ 13 มุมก็ตาม ยังไม่มีใครคำนวณปฏิทินโหรล่วงหน้าได้เกิน 100 ปี ประเภทสมผุสรายวันได้เลย เพราะในยุคก่อนการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ยังไม่เกิดขึ้น การคำนวณเป็นแบบเก่าใช้กระดาน กระดาษทด หรือลูกคิด เมื่อศึกษาจนแตกฉานรู้ที่มาของกฎเกณฑ์เลขต่างๆแล้ว ทองเจือ อ่างแก้ว ใช้เวลากว่า 9 ปี จัดสร้างตารางล็อค ดาราศาสตร์ขึ้น เป็น 2 ภาค รวมทั้งจัดทำค่าเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างปฏิทินโหร เช่น ค่า อุจจนี หรือระยะพระเคราะห์ใกล้ไกลนับจากโลก การหาค่ามัธยม ค่ามหาสมผุส แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 จัดทำปฏิทิน โหราศาสตร์แบบสุริยยาตร์ ของไทย ที่ใช้กันมาแต่เดิมเป็นปฏิทิน ที่คงรายละเอียดแบบไทยไว้อย่างครบถ้วน ทั้งการเทียบวันกับปฏิทินจีนแบบมิ่นก๊ก หรือการกำหนดฤกษ์ต่างๆ ให้ความสะดวกกับผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์แบบเดิม อย่างอเนกอนันต์ ซึ่งงานของท่านผู้นี้ ในเชิงคำนวณยังใช้มาจนปัจจุบัน และยังคงมีต่อไปอีกนาน ส่วนโหรหลวงท่านต่อมาได้แก่ บาง เสมเสริมสุข ก็ยังคงจัดทำปฏิทินโหรแบบเดิมเช่นกันและใช้กันอยู่ในฝ่ายงาน ของสำนักพระราชวังเหมือนเดิม แต่ไม่สู้แพร่หลายทั่วไป การจัดทำปฏิทินโหรยังคงมีมาอีก 2 สำนักในปัจจุบัน อันได้แก่ งานของ จำรัส ศิริ และ ของ พันเอกสุชาติ ศุภประเสริฐ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีลูกเล่นรายละเอียดลงไปแตกต่างกัน
เคยมีบางท่านวิจารณ์ปฏิทินโหราศาสตร์ไทยว่าเมื่อไม่ตรงกับตำแหน่งจริงแล้วจะใช้ได้อย่างไร เพราะจริงอยู่ว่า เมื่อเทียบกับปฏิทินของต่างประเทศที่ยอมรับกันในระดับสากล แล้วมาตัดค่ามุมเปลี่ยนระบบที่เรียกกันว่าค่าอายนาศะ นั้นต่างกับของไทย และค่าของพระจันทร์ก็นำมาจากการคำนวณมุมแบบสากล เพราะของสุริยยาตร์จะไม่เป็นไป ตามค่ามุมนี้ แต่ถ้าเราถือว่าตำแหน่งดาวในคัมภีร์สุริยยาตร์นั้นฝ่านการใช้งานมานานเป็นพันๆ ถ้าเราถือว่าโหราศาสตร์ ก็เป็นวิชาสถิติ ค่ามุมเหล่านั้นก็ผ่านการยอมรับว่าเป็นสถิติไปด้วยเช่นกัน อีกทั้งผู้ที่ใช้อยู่ต่างก็มีประสบการณ์ส่วนตัว ในด้านความแม่นยำ ประเภทสนิทองศามาอย่างไม่รู้จะวิจารณ์ว่าอย่างไร ก็ต้องให้ประสบการณ์ของใครของมัน เป็นเรื่องตัดสินกันเอาเอง
นอกจากงานด้านคำนวณแล้ว งานที่เกี่ยวข้องกับตำรับตำราพยากรณ์ต่างๆ ในสยามประเทศของเรานี้ก็มีเหล่า อรรถกถาจารย์ ผู้แตกฉานทั้งในเชิงโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์ ต่างทยอยเปิดตัวแสดงผลงาน ออกมาเป็นระยะๆ ต่อเนื่องไม่ขาดตอน เช่น หลวงวิศาลดรุณกร รวบรวมตำราสังคายนาตำราโหราศาสตร์ไทย ที่กระจัดกระจายเป็น ปกรณ์ต่างๆ มาอยู่ในที่เดียวกัน โดยเฉพาะสายโหรวังหน้า คือ ปู่นวมโหรวังหน้า แห่งสำนักวัดสังเวช เป็นผู้เก็บรวบรวม ไว้ หลวงวุฒิรณพัสดุ์ ( วุฒิ วิเศษจินดา ) ,จำรัส ศิริ เชย บัวก้านทอง ,พิภพ ตังคณะสิงห์ , ศิวะ นามสนธิ , ศิระ นามสนธิ,สำราญ สมุทรวณิช , พันจ่าอากาศเอกบุญช่วย ชุ่มเชิงรักษ์ , ฉันทิชช์ กระแสสินธุ์ , สิงโต สุริยาอารักษ์ , ศิวเมษ , พันเอกจง แปลกบรรจง , จรัล พิกุล ,ร้อยตำรวจเอกเปี่ยม บุณยะโชติ , เปล่ง เพ็งศรีทอง , ดวงสุริยเนตร , ร้อยเอกทองคำ ยิ้มกำภู , พันเอก (พิเศษ) เอื้อน มณเฑียรทอง , อรุณ เทศถมทรัพย์ , มหาบรรเทา จันทรศร , พันเอกประพิศ สุทธบุตร , พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) คุณหญิงโภชากร (ชิด มิลินทรสูต) , แฉล้ม เลี่ยมเพ็ชรรัตน์ และยังมีอีกหลายต่อหลายท่านที่ไม่อาจจะกล่าวนามได้ทั้งหมดในที่นี้ ได้เป็นผู้บุกเบิกเผยแพร่รจนา ตำรับตำราวิชาการโหราศาสตร์ไทยที่ เป็นเรื่องยากและปกปิดกันในมวลหมู่ตระกูลหรือสายลูกศิษย์ จนแทบจะไม่มี ใครที่เป็นวงนอกที่จะมีโอกาสได้รู้ ให้เป็นที่ของสาธารณะยกระดับการศึกษาในวิชาโหรให้ผู้ที่มีความสนใจตักตวง ความรู้ ที่เหล่าครูบาอาจารย์เหล่านี้นำมาเผยแพร่ จนศึกษาต่อยอดกันได้อย่างแตกฉาน ในระยะเวลาอันสั้น ถือได้ว่าท่านเหล่า นี้เป็นผู้บุกเบิกงานรากฐานของโหรรุ่นต่อๆไป ที่นำมาใช้เผยแพร่จนถึงทุกวันนี้
ในด้านพยากรณ์ศาสตร์ โดยเฉพาะทางด้านการพยากรณ์ลายมือ คัมภีร์หัตถเรขานิเทศ ของหลวงวุฒิรณพัสดุ์ ถือได้ว่าเป็นตำราที่ขาดไม่ได้ วิชาการหาเรือนชะตาในมือซึ่งหลวงวุฒิรณพัสดุ์ได้เรียน มาจากพันเอกหลวงศรีสิงสงคราม ( โลม ศิริปาละกะ ) , ซ้อง โปษยจินดา และพันเอกหลวงเสนานิติกร ( ยง บุนนาค ) ถือเป็นวิชาไม้เด็ดที่แม้แต่ตำราฝรั่ง ก็ไม่มี นอกจากนี้ในเมืองไทยยังมีผู้ที่แตกฉานในวิชาลายมือจนได้รับการยกย่องฝีมือ อีกท่านหนึ่งคือ โหรญาณศิลป์ ( เสวี ยกย่องกุล ) ซึ่งตำราลายมือ เรื่องวิชาโค๊ดวิทยุแห่งจักรวาล เป็นงานค้นคว้าเรื่อง ลายมือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เฉพาะตัว ที่ตำราโหรลายมือฝรั่งเทียบไม่ได้ เพียงแต่ว่าตำราชุดนี้ยังไม่จบบริบูรณ์เท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะหาแนวทาง ต่อยอดเอาเองได้ ตำราลายมือรุ่นหลังๆมักต้องอ้างอิงหลักวิชาจากงานของท่าน เหล่าปรมาจารย์ลายมือที่กล่าวมาแล้ว นี้ทั้งสิ้น
ส่วนวิชาทางตัวเลข เช่นเลขศาสตร์ต่างๆ มีทั้งเลข 7 ตัว , 12 ตัว ,ทักษาไทย ,ทักษารามัญ , โลกธาตุ , กาลโยค ,ทั้งของไทยและพม่า , ทักษาพม่า และของทักษาอีสาน รวมทั้งคัมภีร์กุงกะชัมพุ์ ,ที่แปลว่าดอกบัวลอย ซึ่งต่อมาก็มี ผู้ดัดแปลง ออกไปได้อีกหลายแบบ , ในเรื่องของเลข 7 ตัว นั้น เปล่ง เพ็งศรีทอง ผู้เผยแพร่แนว อังคะวิชาธาตุ ก็ถือว่าเป็นเอกในวิชานี้ ซึ่งต่อมาก็มีผู้นำมาดัดแปลงปรับปรุงเลข 7 ตัวออกไปในหลายแนวทาง เช่น แนวของ เจษฎา คำไหล , แนวของหมอพร คิ้วน้อย ซึ่ง อรุณ เทศถมทรัพย์ นำมาเผยแพร่ , แนวคัมภีร์มหาสัตตเลขของ ธนกร สินเกษม ,และแนวทางของ วิสาระ ประนมกร ซึ่งแต่ละแบบก็มีแนวทางวิธีการเฉพาะตัวที่โดดเด่น นอกจาก นี้ตำราเลขศาสตร์ของ พลูหลวง ก็เป็นงานชั้นอัจฉริยะที่ เซียนวิชานี้จะพลาดไม่รู้ไม่ได้
แนวทางโหราศาสตร์สากลก็เป็นหลักวิชาใหญ่อีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งเข้าในเมืองไทยได้ไม่นานนักผู้เผย แพร่นอกจาก หม่อมเจ้าเจริญสุขโสภาคย์ เกษมสันต์ พระยาบริรักษ์เวชชการ เชื้อ ศรีสุวรรณ หลวงอรรถวาทีธรรมปริวรรต และอื่นๆอีกหลายท่าน ที่มีผลงานทางโหราศาสตร์สากลจริง โดยศึกษาด้วยตนเองจาก ตำรับตำราที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ และมีผู้ไปเรียนมาจากประเทศอังกฤษ โดยตรง คือ จรัล พิกุล ซึ่งคนไทยคนแรกที่ไปเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง ภายหลังที่กลับมาเมืองไทยแล้ว ก็เผยแพร่วิชาโหราศาสตร์สากล ออกมาเป็นตำราอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งปลายกึ่งพุทธกาล พันเอกจง แปลกบรรจง ได้สั่งนิตยสาร โหราศาสตร์จากต่างประเทศ เช่น อังกฤษ อินเดีย เข้ามาศึกษาเป็นการส่วนตัว ช่วงนั้นมีบทความเกี่ยวกับโหราศาสตร์ ยูเรเนียนเป็นตอนๆไป แต่ก็ยังไม่มีผู้ให้ความกระจ่างกับวิชานี้ได้ในเมืองไทย มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางโหราศาตร์ สากล หลายท่านในเมืองไทย เช่น อุดม ปัทมินทร์ และจรัล พิกุล ก็เลยเกิดมีการค้นคว้ากันยกใหญ่เกี่ยวกับวิชา โหราศาสตร์ยูเรเนียน จนมีการพิมพ์ตำราโหราศาสตร์ยูเรเนียน ในเมืองไทยครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2511 โดยจรัล พิกุล และ ช่วงนั้นก็บังเอิญมีนายทหารสื่อสารไทยท่านหนึ่ง ได้รับทุนรัฐบาลไทยไปศึกษาเล่าเรียนวิชาเสนาธิการทหาร ที่ประเทศเยอรมันตะวันตก ( สมัยนั้น ) ซึ่งท่านผู้นี้สนใจวิชาโหราศาสตร์สากล โดยเฉพาะโหราศาสตร์ยูเรเนียน ซึ่งเป็นโหราศาสตร์สากลตำรับเยอรมัน ที่มีแนวทางโดดเด่นเฉพาะตัว นายทหารผู้นี้คือ พลตรีประยูร พลอารีย์ ซึ่งนอกจากจะสำเร็จวิชาเสนาธิการทหารแล้ว ยังสำเร็จวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนชั้นสูงจากสำนัก ฮัมบูร์กของเยอรมัน โดยตรงอีกด้วย ซึ่งต่อมาหลังจากนั้นก็มีการพัฒนาเปิดการเรียนการสอนเป็นโรงเรียนโหราศาสตร์กรุงเทพ
ทางโหราศาสตร์จีนก็มีผู้บุกเบิกทางด้านจีนวิทยาหลายท่าน เริ่มจาก ซ. สินธุวงศ์ นำเรื่องจีนาโหราศาสตร์ ลงเผยแพร่ในพยากรณ์สาร ช่วงปี พ.ศ. 2507 จากนั้น จำลอง พิศนาคะ นำวิชานรลักษณ์จีนหรือโหงวเฮ้ง เข้ามา เผยแพร่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันในเมืองไทยมากขึ้นหลังจากที่เคยเป็นวิชาปกปิดรู้กันเองในวงแซ่ของตน ยิ่งการดูฮวงจุ้ย ด้วยแล้วยิ่งปกปิดกันจนลี้ลับพิศดาร อีกทั้งปัญหาเรื่องกำแพงภาษาที่จะถ่ายทอดแปลเป็นภาษาไทย ด้วยแล้วโดยเฉพาะปัญหาการเรียนภาษาจีน เนื่องจากการเมืองในยุคสงครามเย็น วิชาจีนวิทยาจึงเงียบเชียบทั้งๆ ที่ความแม่นยำ ในเชิงวิชานี้ไม่เป็นที่รองใคร เพราะกลั่นกรองผ่านประสบการณ์มาเป็นหลายๆพันปี ในเมืองไทยเองช่วงนั้น ก็มีเรื่องของ ซินแสทองหยิน ที่เคยทำนายเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ตอนเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ในสมัยรัชกาลที่ 6 ว่า พระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ซึ่งขณะที่ทำนายนั้น โอกาสแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะพระองค์ทรงมีพระเชษฐาร่วมพระครรโภทร ที่ทรงอาวุโสอีกหลายพระองค์ แต่ภายในอีกไม่กี่ปีเท่านั้น สมเด็จพระเชษฐาเหล่านั้นต่างทยอยสิ้นพระชนม์ไปหมด จนในที่สุดพระองค์ได้ ครองราชย์สมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จริงตามคำทำนายของซินแส
ผู้บุกเบิกวิชาโหราศาสตร์จีน ที่เป็นเรื่องเป็นราวมีการเขียนตำรา และแปลตำราจีนออกมาเป็นภาษาไทยนั้น ได้แก่ สินศักดิ์ วิศิษฐ์สกุล ,เกรียงไกร บุญธกานนท์ , อำนวยชัย ปฏิพัทธิเผ่าพงศ์ และชัยเมษฐ์ เชี่ยวเวช ท่านเหล่านี้เปิดเผยวิชาฮวงจุ้ย และวิชาผูกดวงจีนที่เรียกกันว่า วิชาโป๊ยยี่สี่เถียว หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า อักษรแปดตัว หรือ สี่แถว ซึ่งนับแต่โบราณกาลมาเป็นเรื่องลี้ลับปกปิดกันใน เฉพาะวงการพยากรณ์ของหมู่ชน ชาวจีนเท่านั้น มาให้คนไทยได้ศึกษาตักตวงความรู้ โดยไม่ต้องผ่านจากภาษาจีน นับเป็นคุณูปการอย่างใหญ่หลวง
ส่วนโหรทางภารตะวิทยานั้นเล่าก็มี ผู้นำมาศึกษาค้นคว้า เผยแพร่ในประเทศไทยเราอย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง โดยศิวะ นามะสนธิ นับว่าเป็นผู้บุกเบิกวิชาการด้านนี้โดยแท้ คัมภีร์ต่างๆในด้านโหราศาสตร์อินเดีย เช่น พฤหัสชาดก สตรีชาดก มูหูระตะ โหรารัตนมาลา โหราเกราล่า คัมภีร์ไตรศตโชคมัญชรี และอีกหลายต่อหลายคัมภีร์ที่เผยแพร่ออกมา จากท่านและคณะ ได้จัดพิมพ์ขึ้น เสียดายที่ท่านมีอายุขัยสั้น งานแห่งชีวิตเช่นนี้จึงมีโอกาสเผยแพร่ได้ไม่กว้างนัก แต่ขอบันทึกไว้ว่า ในช่วง 10 ปีแรกแห่งพุทธศตวรรษนี้ งานเช่นนี้เคยมีในสยามประเทศ
วิชาพยากรณ์ศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันตกก็คือ ไพ่ป็อก นิยมกันมาก ในหมู่สุภาพสตรี เพราะเรียนรู้ง่ายและเป็นการสันทนาการในระหว่างหมู่คณะ จึงมีการทำตำราไพ่ป๊อก ซึ่งแปลออกมาจากภาษาต่างประเทศ ออกเผยแพร่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 นอกจากนำมาใช้เป็นเกมเสี่ยงทายแบบ เล่นคนเดียวที่ ฝรั่งเรียกว่า Solidare แล้ว ยังมีการเอามาทำนายกันเป็นล่ำเป็นสันถึงกับมีศัพท์ว่า หมอดูไพ่ป็อก โคนต้นมะขาม ซึ่งรู้จักเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ต่อมาช่วงมีกองทัพอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย สมัยวิกฤตการณ์สงครามในประเทศอินโดจีน เกิดมีการแพร่ระบาด ไพ่อีกชนิดหนึ่งขึ้นมาเรียกกันว่า ไพ่ทาโร่ห์ หรือที่เรียกกันว่า ไพ่ยิปซี แต่ก็ยังไม่มีเผยแพร่เป็นตำราวิธีการพยากรณ์เท่าใด เคยมีการนำมาลงในพยากรณ์สาร บ้างแต่ก็ยังไม่กว้างขวางออกไปนัก แต่ก็เริ่มมีไพ่ยิปซีวางจำหน่ายในร้านหนังสือใหญ่ๆในกรุงเทพฯ จนกระทั่งมีผู้ที่เคย ไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศโดยเฉพาะทางอเมริกามาเปิดการทำนายแบบไพ่ทาโร่ห์ อย่างเป็นล่ำเป็นสัน แทนการทำนายแบบไพ่ป็อก และต่อมาก็เขียนตำราเรื่องนี้ออกมาอย่างเป็นเรื่องราวในภาษาไทย คือ ขุนทอง อสุนี ณ อยุธยา ก็เลยเป็นที่ฮือฮาได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มสุภาพสตรี เพราะดูง่ายเนื่องจาก มีภาพให้เห็นทั้งคนดูและผู้ดูเห็นไพ่แบบเดียวกัน แทบจะรู้ความหมายไปด้วยกัน ความนิยมในการดูไพ่ยิปซีนี้ ทำให้การดูไพ่ป็อกแบบเดิม แทบจะหมดไปเลย ซึ่งถือว่าเป็นปรากฎการ์ณใหม่ในวงการพยากรณ์ศาสตร์
เมื่อโลกเข้าสู่ยุคคอมพิวเตอร์ บรรดาโหรานุโหรในระบบต่างๆในประเทศไทย ก็พากันพัฒนาการในด้านนี้ไปด้วย ราวปี พ.ศ. 2524 มีผู้เขียนโปรแกรมผูกดวงและพยากรณ์ภาษาไทยกับเครื่องซินแคลร์ ซึ่งเป็นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ขนาด 8 บิต ได้แล้ว คนไทยคนนั้น ได้แก่ ชาญวิทย์ ยิ้มศิริกุล แต่จะเป็นคนไทยคนแรกหรือไม่นั้นผู้เขียนไม่แน่ใจ จากนั้นก็มีการพัฒนาโปรแกรมที่ในการผูกดวงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่นของ พลตรีประยูร พลอารีย์ วินัย อวยพรประเสริฐ ธนกร กิตติธโรวาท ผดุง ผึ่งประเสริฐ เกษม ปาละวิสุทธิ์ และพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ซึ่งเน้นทางโหราศาสตร์สากลโดยเฉพาะทางโหราศาสตร์ยูเรเนียน พลตรีบุนนาค ทองเนียม ที่เน้นเกี่ยวกับโหราศาสตร์ไทย โดยเฉพาะการทำดวงพิชัยสงครามหรือสูตรทางคัมภีร์พระสุริยยาตร์ และงานของ มานิตย์ ธีรเวชชกุล ที่สามารถนำโปรแกรมคำนวณของทุกระบบมาลงในพ็อกเก็ตคอมพิวเตอร์ ให้โหรใช้โดยไม่ต้องพกพาปูมปฏิทินให้เป็นที่ยุ่งยาก และยังสร้างปฏิทินคำนวณดวงดาวย้อนหลังเดินหน้าได้ 5000 ปี สิ่งเหล่านี้ บรรดาโหรสยามได้พัฒนาการกันเองในประเทศทั้งสิ้น โดยเป็นเรื่องส่วนตัวและหมู่คณะทั้งทางองค์ความรู้ การจัดหาวัสดุเครื่องมือทุนทรัพย์ เป็นการส่วนตัว มิได้พึ่งพาภาครัฐแต่อย่างใด และเมื่อโลกเข้าสู่ยุคระบบ 16 บิต และ 32 บิต งานด้านโหราศาสตร์โปรแกรมของ ผดุง ผึ่งประเสริฐ และของ โรจน์ จินตมาส ก็สามารถใช้งานได้ดีจนถือว่า สมบูรณ์แบบ
ปัจจุบันวิชาโหราศาสตร์ได้แพร่หลายให้เรียนรู้กันทั่วไป ตั้งแต่คนชั้นสูงลงมาถึงราษฎร์ทั่วไป มีหลักฐานถึง พระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในเชิงความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ชั้นสูง ก็คือ หนังสือพระราชนิพนธ์ เรื่องพระมหาชนก มีภาพแบบดวงไทยปรากฎอยู่ ซึ่ง ชัย ราชวัตร ผู้ภาพการ์ตูน ต้องเขียนภาพดวงลงไป แต่ตำแหน่งดาวนั้นเป็นตำแหน่งซึ่งพระองค์ทรงกำหนด ที่เป็นตำแหน่งจริงทางโหราศาสตร์ ณ วันที่กำหนดในท้องเรื่องนั้น ซึ่งแสดงถึงพระราชกุสุมรสในเชิงโหราศาสตร์ชั้นสูงอย่างมาก
ส่วนระดับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ หลายท่านมีความรู้ทางโหราศาสตร์เป็นที่ยอมรับกันในวงการ บางครั้ง การแก้ไขวิกฤตการของบ้านเมือง ในเชิงที่เรียกว่า โหราอาถรรพณ์ศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่ององค์ความรู้ชั้นสูงสุดแก้ไข เหตุการณ์ผ่อนหนักเป็นเบา หลายๆครั้งที่ผ่านมา ถือกันว่าได้แก้ไขหาทางออกไปได้ ในสายตาเซียนด้วยกันนับถือว่า ระดับเซียนเหยียบเมฆ ทีเดียว ส่วนปัจจุบันนี้ก็มีตำรับตำราโหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์ ออกมาอย่างมากมายแทบ จะครบทุกแขนง มีการตั้งสมาคม สมาพันธ์ ชมรม หรือองค์กรเกี่ยวกับโหราศาสตร์อย่างมากมาย นอกจากนี้ ก็มีบางท่าน พยากรณ์เหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้า ให้คำพยากรณ์ผ่านสื่อต่างๆ บางคราวก็เฟื่องถึงขนาดมีเกมที่เอานักพยากรณ์ ชื่อดัง มาเล่นเกมทายกันในโทรทัศน์ ซึ่งก็ให้คุณทั้งบวกทั้งลบ จนยุติรายการไป ปัจจุบันมีผู้ใช้และศึกษาวิชานี้กันมาก มาย ทั้งสมัครเล่นและอาชีพ แล้วก็คงจะมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่คนยังต้องการที่จะรู้อนาคตล่วงหน้า