ReadyPlanet.com


เริ่มบทความใหม่ โหราสาธยาย


                                                   มาเป็นโหรากันเถอะ

                                             โดย ภารต   ถิ่นคำ

 ฉบับที่ 1 ( วันที่ 22  ธันวาคม พ..2553 )

            เริ่มแล้วครับ  หลังจากที่ตรึกตรองมาหลายยกหลายเพลาว่าจะทำดีหรือไม่ดีก็เรื่องเกี่ยวกับการสาธยาย วิชาโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวกันซะที หลังจากที่ทำเว็บแอตโตรคลาสสิคัลด็อทคอมผ่านมาได้สักช่วงเวลาหนึ่ง  เผลอแปบเดียวพอจะนึกได้ก็อ้าว!ก็ปาเข้าไปตั้งร่วม 4 ปี กว่าเข้าไปแล้ว

           ที่ผ่านมาผมก็ได้ประสบการณ์หลายอย่างมากเชียวครับ  ทั้งพรรคพวกเพื่อนฝูงลูกค้าครูบาอาจารย์มิตรรักนักดูดวงรวมไปถึงทั้งแฟนนานุแฟนและผู้มีอุปการคุณอีกมากมายที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยจนสุดจะหาคำที่จะมาบรรยายได้ไม่จบไม่สิ้น

             เกริ่นคำนำมาซะยาวก็เพื่อจะบอกว่า  เริ่มจากปีใหม่ทางดาราโหราศาสตร์ทางสากลยูเรเนียน เขานับกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่  คือ อาทิตย์ยกเข้าราศีมกร 0 องศา ซึ่งตรงกับวันที่  22 ธันวาคม พ..2553 เวลา 06.38 . กรุงเทพมหานคร หรือ ถือกันว่าเป็นของประเทศไทย โดยปริยายไป นั้น จะเริ่มบทความยาวเหยียดต่อเนื่อง  ซึ่งคาดว่าคงใช้เวลากันหลายอยู่ทีเดียวกว่าจะสะใจกันไปข้างหนึ่ง  ทั้งผู้เขียนและผู้ติดตามอ่าน ซึ่งก็คือเรื่องตำราโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนทั้งสารบัญญัติและสบัญญัติรวมไปถึงปกิณกะ ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะนึกว่า  ยังไม่ทันไรก็วางมาดใช้ศัพท์ซะสูงเป็นวิชาการน่าเบื่อหน่ายให้คาดเดาเอาเองว่า ศัพท์แสงพวกนี้ หมายความว่าอย่างไร และผมซึ่งเป็นผู้เขียนคงทำท่าทำทางเป็นวิชาการน่าดูเพื่อให้ยากเข้าไว้   บอกซะก่อนตอนนี้เลยนะครับว่า  ผมเคยเบื่อเรื่องอ่านตำราแล้วชวนให้ง่วง ซึ่งถ้าง่วงแล้วยังรู้เรื่องก็คงไม่เป็นไร ยังพอยอมให้ผ่านกล้อมแกล้มพอไปได้  ส่วนประเภทที่ว่าอ่านให้ชวนง่วงแล้วคนอ่านก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดีนี่สิน่าหนักใจ ซึ่งอันนี้เราคนเขียนก็ต้องพยายามหาวิธีการปรับปรุง พยายามทำให้เรื่องมันง่ายชวนอ่านเข้าไว้  ทีนี้ปัญหาใหญ่ก็คือ  ปัญหาการเรียนโหราศาสตร์สากลยูเรเนียน คือ ผู้ศึกษาวิชานี้มักจะเจอปัญหาว่าการเรียนวิชานี้มักจะมีแต่เนื้อหาและทฤษฎี( สารบัญญัติ)เท่านั้น  ส่วนวิธีการหรือเทคนิคการนำมาใช้อย่างไรแบบไหน(สบัญญัติ) ยังหาอ่านยาก  หรือแม้แต่ ความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องหรือแม้ว่าบางทีก็ดูเหมือนอาจจะไม่เกี่ยวข้องแต่ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเกี่ยวข้องซึ่งรู้ไว้บ้างในเรื่องโหราศาสตร์สากลยูเรเนียน(ปกิณกะ) ว่าเป็นอย่างไร ในฐานะที่ผมเคยบุ่มบ่ามกะเล่อกะล่าพาตัวเองเข้ามาในวงการนี้แบบไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรทั้งนั้น และไม่รู้ตัวมาก่อนว่ามาตอนไหนอย่างไร ซึ่งจะพอรู้อีกทีตำราโหราในเวิ้งนครเขษมกับสนามหลวงข้างแม่พระธรณีก็เต็มห้องนอนไปหมดแล้วอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว แถมมีมากกว่าสาขาวิชาที่เรียนจริงๆเป็นอาชีพซะอีก  คิดว่าหลายท่านคงเป็นแบบนี้เช่นกัน  หรือบางท่านก็ชอบดูหมอเป็นชีวิตจิตใจ จนตนเองอยากเป็นอยากรู้วิชานี้กับเขาบ้าง ประเด็นหลังนี้ก็มีเยอะครับ

               แต่ยังไงก็ต้องขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า ผมไม่ใช่นักวิชาการหรือทำแนววิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์อะไรทำนองอย่างนั้น  เป็นเพียงคนที่รักในวิชานี้และใช้วิชานี้ทำมาหากินทั้งทางตรงและทางอ้อม  ไม่ใช่อาจารย์สอนหนังสืออะไรกับใครเขา และบทความนี้ก็เขียนฟรีสามารถเอาไปอ่านเอาไปศึกษาได้(ถ้าดูแล้วพอจะมีประโยชน์) เพราะเจตนากลัวว่าหลายอย่างที่ผมเคยพบเคยเจอเคยค้นคว้าบางประเด็นซึ่งมีเยอะมากอยู่มันจะหายไปกับตัว  เหมือนๆกับเกิดกับครูบาอาจารย์หลายๆท่านที่ผ่านๆมากับกาลเวลาแล้วลาลับไป และบางทีก็เป็นการวิจัยศึกษาเพิ่มเติมของผมเองไปพร้อมกันด้วย  เพียงแต่บทความพวกนี้ผมขอสงวนสิทธิ์อย่าเอาของผมไปพิมพ์หรือก๊อบบี้ทำสำเนาเพื่อขายเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์หรือเพื่อเอาเพื่อประโยชน์เป็นส่วนตัวก็แล้วกัน  เพราะตั้งใจทิ้งไว้ให้คนที่ถูกธาตุซึ่งฟ้าลิขิตมาให้เป็นโหราได้รู้พบได้รู้จักให้ มาขุดคุ้ยเอาไปศึกษาขยายความและขยายแนวทางค้นคว้าต่อกันเอาไว้สืบต่อไป

              แล้วปัญหาคือว่า จะเขียนเรื่องอะไร กันบ้างนั้น  ตามหลักการแล้วถ้าเป็นตำราก็ต้องมีสารบัญซึ่งเป็นบัญชีลำดับหัวข้อเรื่องที่จะเขียนว่าจะมีขอบข่ายลำดับขั้นตอนกันอย่างไรไว้เป็นหัวข้อนำคุมเรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ในทางโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนเอง ถือว่าแปลก  เพราะถ้านำมาเรียงเรื่องเฉพาะทางทฤษฎีโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนแล้ว  แต่ละสำนักไม่เหมือนกัน และอาจจะเรียกว่า บางสำนักแตกต่างกันเหลือเกินก็มี ถึงขนาดที่ว่า ดูแค่สารบัญก็อาจจะรู้ว่า เรียนจบโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนกันหรือยัง  อาจจะมีอีกหลายๆหัวข้อที่ว่า ไม่เคยรู้ว่ามีด้วยซ้ำ

              สรุปเป็นอันว่า ขึ้นต้นเกริ่นด้วยคำนำว่า ผมจะเริ่มทยอยเขียนบทความเกี่ยวกับโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนแนวค้นคว้าทั้งเชิงทฤษฎีและเทคนิครวมถึงการเสริมประสบการณ์ที่น่าสนใจ   โดยเริ่มในปีใหม่นี้  ทยอยออกมาตามแนวรายสะดวกแต่จะพยายามหาเวลาบังคับตนเองให้มีงานประจำทำกับเขาบ้าง ให้สำเร็จ ซึ่งกระผมนายภารต  ถิ่นคำ ผู้เขียนเรื่องนี้ ขอถือโอกาสเลียนแบบปุราณาจารย์รุ่นเก่า กล่าวปณามพจน์ขออาราธนาคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์และคุณครูบาอาจารย์โหราทุกท่านให้ช่วยคุ้มครองปกปักษ์รักษาคุ้มครองอย่าให้มีอุปสรรคขัดขวางจนกว่างานจะสำเร็จลุล่วงตามที่ได้วางแนวทางเอาไว้ให้ตลอดด้วยเทอญ



ผู้ตั้งกระทู้ ภารต...เอาฤกษ์เอาชัย :: วันที่ลงประกาศ 2010-12-22 11:05:02 IP : 118.172.28.7


<< ก่อนหน้า 1 [2]

ความคิดเห็นที่ 51 (2160434)

ดาวเคราะห์แคระอีรีส(Eris) 

ในวันที่21 ตุลาคม ปี  2003  ช่วงที่นักโหราศาสตร์สากลยูเรเนียนทั่วโลกต่างก็ทราบกันดีว่า จะมีปรากฎการณ์ทางโหราศาสตร์สำคัญ คือ ดวงอาทิตย์จะยกเข้าสู่ราศีพิจิก  ณ หอดูดาวพาโลมา มลรัฐคาลิฟอร์เนีย นักดาราศาสตร์ชื่อ ไมเคิล อี. บราวน์ และคณะได้ถ่ายภาพดาวดวงหนึ่งไว้ได้  ทางคณะผู้ค้นพบได้เสนอให้ตั้งชื่อ ดาวที่ค้นพบใหม่นี้ว่า  ซีนา ( Xena ) โดยอักษรตัว  X นี้หมายถึงดาวเคราะห์ X ที่นักดาราศาสตร์คนสำคัญซึ่งเคยเป็นผู้ค้นพบดาวพลูโต เคยเป็นผู้วางแนวทางตั้งชื่อในเรื่องนี้เอาไว้ก่อนแล้ว   และให้ดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของดาวดาวนี้มีชื่อว่า แกเบรียลล์ ( Gabrielle ) แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ

         ภายหลังการค้นพบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2005  หลัง จากศึกษารูปแบบและวงโคจรจนเข้าใจดีแล้วจากภาพถ่ายของเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2003 ดังกล่าว ทางคณะผู้ค้นพบและองค์การนาซา ได้ประกาศการค้นพบว่า ดาวอีรีส นี้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา

 

          แต่จากการประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล  ที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเชค เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2006  ได้ข้อสรุปว่า อีรีส ไม่จัดว่าเป็นดาวเคราะห์แต่เป็น ดาวเคราะห์แคระเช่นเดียวกับ ดาวพลูโต

        ชื่อของอีรีส ก็นำมาจากชื่อของเทพเจ้ากรีก คือ เป็นเทพเจ้าแห่งความวุ่นวาย  ตามประวัติว่าเป็นผู้ใช้อุบายโดยใช้แอบเปิลทองคำ เพื่อทำให้สามเทวีพรหมจรรย์แห่งโอลิมปัสอันได้แก่ เฮรา  อาเทนา และ และอะโฟร์ไดต์แตกคอกัน  ส่วนชื่อของ ดิสโนเมีย ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารของ อีรีสนั้น  เป็นชื่อเทพธิดาของ อีรีส นั่นเอง

 

        ข้อมูลในทางโหราศาสตร์ อีรีส มีวงโคจรเป็นคาบดาราคติ อยู่ที่ 203,500 วัน หรือ  557 ปี หรือเฉลี่ยอยู่ในราศีละ 46 .5 ปี ปัจจุบันขณะที่เขียนบทความนี้ ( กันยายน 2553 ) กำลังโคจรอยู่ในราศี เมษ ประมาณ 22 องศา

         มัน เป็นเรื่องแปลกในวงการโหราศาสตร์ที่ว่า ชื่อของเทพเจ้านั้น มักจะให้ความหมายในทางพยากรณ์เป็นไปอย่างสอดคล้องกับคุณสมบัติของดาวนั้นๆใน การทำนาย

          ถ้าลองย้อนกลับไปศึกษาข้อมูลจริงจากอดีต ก็จะยิ่งหน้าพิศวง เพราะจะปรากฏว่า ดาว เคราะห์แคระ  อี รีส ดวงนี้ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการขัดแย้งด้านสังคมและการเมืองรวมไปจนถึงกับ บุคคลสำคัญๆที่เป็นตัวเอกในยุคนั้นๆอย่างน่าศึกษา  โดย เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ดาวเคราะห์แคระอีรีส เข้าไปอยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับจุดเมษหรือแกนโลก ในมุมแรงต่างๆ เช่น ในฮาโมนิคที่ 16 หรือ พหุคูณของมุม 22.30 องศา และ เนื่องจากมีวงรอบคาบเวลาอยู่ที่ 557.8 ปี

 

       ถ้าลองย้อนหลังกลับไปในปูมปฎิทินดาวแบบโหราศาสตร์สากล หลายๆร้อยปี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  เหตุการณ์ สำคัญๆที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงในเชิงกว้างทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ แบบกะทันหันรุนแรง ไม่คาดฝัน หรือ ไม่มีใครนึกถึง โดยอีรีส สัมพันธ์กับจุดเมษแกนโลกในระยะเชิงพหุคูณของ 22.30 องศาหรือ ฮาโมนิคที่ 16 หรือ ( 0 , 22.30 ,45 , 67.30 , 90 , 112.30 , 135 ,157.30 และ 180 องศา ) แทบทั้งสิ้น

 

       ส่วน รายละเอียดรูปแบบของความรุนแรงในเหตุการณ์ช่วงนั้นๆ จะขึ้นอยู่ ผลของดาวเคราะห์วงนอก อันได้แก่ อังคาร พฤหัส เสาร์มฤตยู  เนปจูน และพลูโต ว่ามีความสัมพันธ์เชิงมุมแบบใดต่อกัน ซึ่งเป็นตัวลีลาประกอบของเหตุการณ์ใหญ่ๆ โดยเป็นไปตามความหมายเฉพาะของดาวเคราะห์นั้นๆเอง และรวมไปจนถึง ของความหมายของศูนย์รังสี  วงรอบปรากฎการณ์ดาวทำมุมสัมพันธ์แบบต่างๆ  โดยเฉพาะมุมแรงๆ และดาวเคราะห์เข้ารูป ( Planetary ) เช่นจุดอิทธิพลในรูปแบบต่างๆด้วย

       หลักฐานตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์

อีรีส ยกเข้าราศีมกร หรือ เข้าแกนโลก ใน  15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 (ค.ศ.1767) มีเหตุการณ์สำคัญต่อไทย คือ กรุงศรีอยุธยา แตก เสียแก่พม่าใน วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 และ

อี รีส เดินพักร์ ย้อนกลับมา เข้าราศีมกร 0 องศาใหม่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2310 มีเหตุการณ์สำคัญคือ ตั้งกรุงธนบุรี ศรีมหาสมุทร เป็นราชธานีของไทย โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ระยะนั้นดาวเสาร์อยู่ที่ ต้นราศีกรกฎในมุมเล็งตรงข้าม

อี รีส มาเข้า ราศีมกรอีกทีตอน 7 กรกฎาคม พ.ศ.2311 พระเจ้ากรุงธนบุรี ยกทัพปราบชุมนุมเจ้าพิมายคู่แข่งทางการเมือง คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ ได้สำเร็จ

จะ เห็นได้ว่า ช่วงที่ อีรีส โคจรป้วนเ***ยนอยู่ที่แกนโลกนั้น มีเหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศไทยมากมายเหลือเกิน เป็นเหมือนการเปลี่ยนผ่านจากยุคสมัยหนึ่งไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง

จากนั้นอีรีส เข้าสู่ยุคต่อไปที่ 22 องศาครึ่งของราศีมกร เพราะอีรีสจะไปทำมุม 22.30 องศากับแกนโลก         ( แกนกรกฎ-มกร ) ระหว่าง พ.ศ. 2334-2335 ในเมืองไทย มีการตั้งเมืองอุบลราชธานี คุมหัวเมืองอีสานตอนบน มีการปราบจลาจลในลาว และกัมพูชา และหัวเมืองมลายู อันแสนจะวุ่นวาย ในส่วนสถานการณ์โลก มีการเลือกตั้งให้นายพล จอร์ช วอชิงตัน เป็นประธานาธิบดีแห่ง สหรัฐอเมริกาและ มีการปฎิวัติในฝรั่งเศสล้มการปกครองระบอบกษัตริย์ไปเป็นระบบสาธารณรัฐ

จนล่วงเลยมา 22.30 องศาต่อมาได้แก่ ช่วงองศาที่ 15 ราศีกุมภ์ ระหว่าง พ.ศ. 2364-2365  เรือ อเมริกันลำแรกเข้ามาถึงกรุงเทพ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ตอนปลายและ จอห์น ครอเฟิด ทูตอังกฤษ เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี จากนั้นปีรุ่งขึ้นรัชกาลที่ 2 สวรรคต เปลี่ยนรัชกาลเป็นรัชกาลที่ 3ส่วนสถานการณ์โลก พม่ากับอังกฤษรบกันจนพม่าเสียเมือง ส่วนฟิลิปปินส์ เปรู ได้เป็นประเทศเอกราช

ถัดมาอีก 22.30 องศา คือ อีรีสโคจร อยู่ที่ช่วงองศาที่ 7.30 ในราศีมีน  ช่วง พ.ศ. 2405-2406 ไทยเสียดินแดนเขมรให้ฝรั่งเศส อีกทั้งมีการตัดถนนเจริญกรุงและอีกมากมายหลายสาย รวมไปถึงการขุดคลองเช่น คลองมหาสวัสดิ์ คลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก ยกเลิกระบบเงินตราที่ใช้เบี้ยมาใช้เหรียญกษาปณ์  มี ราชทูตจากรัสเซียเข้ามาทำสัญญาค้าขายกับสยาม ส่วนสถานการณ์สำคัญของโลกได้แก่ สงครามกลางเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ในสหรัฐอเมริกา และกบฏไท้ผิงในประเทศจีน

 

ต่อ มาก็คือจังหวะสำคัญอีกตอนหนึ่งของ ดาวเคราะห์แคระอีรีส ซึ่งก็คือตอนที่ ยกเข้าราศีเมษ แกนโลก ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ.2468-70 ไทยเรามีการเปลี่ยนผ่านรัชกาลเป็นรัชกาลที่ 7 สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลก ย่ำแย่ มีการดุลข้าราชการออกเป็นจำนวนมาก รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ของไทยประสูติในช่วงเวลานี้  ส่วนสถานการณ์โลกนั้น สงครามโลกครั้งที่สอง กำลังฟอร์มตัวขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นโลกก็เปลี่ยนแปลงสับสนวุ่นวายกันต่อมาอีกหลายปี

ตอนนี้ ช่วงปี 2010-2014  ดาว เคราะห์แคระอีรีส ก็ดันมาป้วนเ***ยนเดินหน้าถอยหลังบดขยี้อยู่ที่ 22.30 องศา ราศีเมษแกนโลก โดยมี เสาร์และมฤตยู เล็งกันอยู่ในแนวแถวๆแกนโลก  ประเทศไทยเราตั้งแต่ ปี 2009 และ 2010 เราเจอเหตุการณ์ใดไปบ้างทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ  เรา เองก็รู้ๆทราบๆกันอยู่เป็นอย่างดี และจากนี้ไปจนถึง 2014 จะเป็นอย่างไรนั้นก็ขอให้บารมีคุณพระรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสยามเทวาธิ ราชให้จงปกป้องรักษาคุ้มครองคนไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศไทยอัน เป็นที่รักยิ่งของเราด้วยเถิด

เรื่อง ดาวเคราะห์แคระอีรีสนี้ ยังไม่มีบทความเชิงวิชาการโหราศาสตร์สากลในภาษาไทยมากพอ เรื่องนี้ผู้เขียนได้แนวทางข้อมูลมาจากสารานุกรมอิเลคโทรนิคทางสื่ออินเตอร์ เน็ตเช่น วิกีพีเดีย และโปรแกรม Solar fire Gold Deluxe  ซึ่ง มีวิธีการหาปูมปฎิทินดาวของอีรีส และเมื่อค้นคว้าศึกษาลงไปแล้วผู้เขียนเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะจุดเปลี่ยนทางการเมือง เชิงสังคมในวงกว้าง จึงค้นคว้าเชิงบันทึกเอาไว้เผื่อว่าจะมีนักโหราศาสตร์สากลยูเนียนเอาไปขยาย ความค้นคว้าไว้ต่อ ซึ่งผู้เขียนเองเขียนเอาไว้แค่เป็นเรื่องย่อพอสังเขปและยังมีรายละเอียดของ เรื่องนี้ไปได้อีกมากมายนัก  

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...เอาฤกษ์เอาชัย วันที่ตอบ 2011-03-12 08:33:52 IP : 118.172.24.44


ความคิดเห็นที่ 52 (2160439)

ดาวเคราะห์แคระมาเกมาเก

ไอเอยูตั้งชื่อพลูตอยด์หรือดาวเคราะห์แคระดวงที่ 3 ของระบบสุริยะว่า "มาเกมาเก" ตามชื่อเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ของชาวโพลินีเชียน โดยนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบระบุว่า เจอเทหวัตถุนี้ขณะภรรยาตั้งท้อง จึงรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทพเจ้า
       
       
สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือ ไอเอยู (International Astronomical Union: IAU) ตั้งชื่อ "มาเกมาเก" (Makemake) ตามชื่อเทพเจ้าผู้สร้างโลก และเป็นเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ของชาวโพลินีเชียน (Polynesian) ให้กับดาวเคราะห์แคระดวงที่ 4 ของระบบสุริยะ ซึ่งอยู่ไกลออกไป นอกวงโคจรของดาวเนปจูน และจัดอยู่ในประเภทพลูตอยด์ (plutoid) ระบบใหม่ของเทหวัตถุในระบบสุริยะ


       
       การตั้งชื่อครั้งนี้ สเปซเดลีรายงานว่า เป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการตั้งชื่อวัตถุขนาดเล็ก หรือ ซีเอสบีเอ็น (Small Body Nomenclature: CSBN) และ กลุ่มทำงานตั้งชื่อระบบดาวเคราะห์ หรือดับเบิลยูจีพีเอสเอ็น (Working Group for Planetary System Nomenclature: WGPSN) ซึ่งทั้งสองเป็นคณะทำงานของไอเอยู
       
       ตามรายงานของสเปซดอทคอม "มาเกมาเก" ซึ่งมีสีแดงเล็กน้อยนั้น เป็นวัตถุในระบบสุริยะด้านนอก ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ก็ยังเล็กและสว่างน้อยกว่าพลูโต ที่นักดาราศาสตร์เพิ่งจัดให้เป็นดาวเคราะห์แคระ ประเภทพลูตอยด์เมื่อเดือนก่อน


       
       ทั้งนี้นักดาราศาสตร์พบมาเกมาเกเมื่อปี 2548 และเชื่อว่าผิวพลูตอยด์ดวงนี้ ปกคลุมไปด้วยมีเทนแช่แข็ง ส่วนความสว่างนั้น ไอเอยูระบุว่าเพียงพอที่กล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูง สำหรับมือสมัครเล่นจะส่องเห็นได้
       
       สเปซเดลีระบุว่า มาเกมาเกเหมือนพลูตอยด์อื่นๆ ที่อยู่นอกวงโคจรของดาวเนปจูน และในบริเวณนั้นเต็มไปด้วยวัตถุเล็กๆ มากมาย ซึ่งเรียกว่าเป็นบริเวณแถบวงแหวนที่เรียกว่า "ทรานส์เนปจูเนียน" (transneptunian region)
       
       ทีมที่ค้นพบพลูตอยด์นี้ นำโดยไมค์ บราวน์ (Mike Brown) จาก
สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียในพาซาเดนา (California Institute of Technology in Pasadena) และเบื้องต้นเรียกกันว่า "2005เอฟวาย9" (2005 FY9) ขณะเดียวกันก็มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "กระต่ายอีสเตอร์" (Easterbunny)
       
       "วงโคจรก็ไม่ได้พิสดารอะไร แต่ตัววัตถุเองนั้นใหญ่ บางทีอาจจะประมาณ 2 ใน 3 ของขนาดดาวพลูโต ทั้งนี้เราพิจารณาการตั้งชื่อให้กับวัตถุในระบบสุริยะอย่างระมัดระวัง" สเปซดอทคอมรายงานคำพูดของบราวน์ ซึ่งระบุด้วยว่า การเชื่อมโยงพลูตอยด์ดวงนี้ เข้ากับเทวตำนานไม่ใช่เรื่องง่าย
       
       บราวน์และทีมได้ค้นพบดาวเคราะห์แคระขนาดเล็ก ทั้งมาเกมาเก อีริสและ 2003อีแอล61 (2003 EL61) ในขณะที่ภรรยาของเขาอุ้มท้องลูกสาวอยู่พอดี ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงเทพเจ้าแห่งความสมบูรณ์ และเขามีความทรงจำที่ชัดเจน ในความรู้สึกว่าเทพเจ้ามาเกมาเกนั้น มีส่วนร่วมในการหว่านความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เอกภพทั้งหมด และคณะกรรมการตั้งชื่อก็ยอมรับชื่อนี้จากการหารือระหว่างกันผ่านอีเมล
       
       สเปซเดลีระบุด้วยว่า พลูตอยด์มาเกมาเก พร้อมด้วยอีริสและ2003อีแอล61 มีบทบาทสำคัญในระบบสุริยะ เพราะเป็นวัตถุที่ได้รับการค้นพบ พร้อมๆ กับการหวนพิจารณานิยามของดาวเคราะห์ และจัดกลุ่มใหม่ให้กับดาวเคราะห์แคระ
       
       นอกจากพลูโตและมาเกมาเกแล้ว "อีริส" (Eris) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพลูโตเล็กน้อยก็จัดเป็นพลูตอยด์อีกดวง โดยทั้งหมดจัดเป็นดาวเคราะห์แคระ ส่วน "ซีเรส" (Ceres) ซึ่งเป็นวัตถุคล้ายดาว ที่ใหญ่สุดในระบบสุริยะ และเป็นดาวเคราะห์แคระ เช่นเดียวกันนั้นไม่จัดเป็นพลูตอยด์ เนื่องจากรูปแบบการโคจรที่ต่างไป โดยอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี.

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...ว่ากันต่อ วันที่ตอบ 2011-03-12 08:45:24 IP : 118.172.24.44


ความคิดเห็นที่ 53 (2161725)

ดาวเนปจูน

ในปี 1846 ชาวเยอรมันชื่อ Johann Galle ได้พบโลกใหม่ด้วยกล้องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ มันอยู่ในตำแหน่งที่นักดาราศาสตร์คนอื่นได้ระบุไว้ก่อนแล้ว ดาวเคราะห์ดวงใหม่มีสีน้ำเงินมีชื่อว่าดาวเนปจูนตามชื่อเทพเจ้าแห่งทะเล โรมัน

ดาวเนปจูนโตเกือบเท่าดาวยูเรนัส มันเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ในระบบสุริยะ มันอยู่ห่างไกลจากโลกมาก จึงทำให้มองเห็นสลัวมาก ดาวเนปจูนสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องสองตา มันดูคล้ายกับดาวฤกษ์ ยังไม่มียานอวกาศที่เคยไปยังดาวเนปจูน สิ่งที่เรารู้ทั้งหมดก็คือ มีมหาสมุทร น้ำที่ลึกล้อมรอบแกนหินซึ่งอยู่ใจกลางของดาวเนปจูน บรรยากาศของดาวเนปจูนไม่เต็มไปด้วยหมอกเหมือนกับดาวยูเรนัส กล้องโทรทัศน์ขนาดใหญ่แสดงให้เห็นแถบกลุ่มควันขาวที่หมุนรอบดาวเนปจูน บรรยากาศจะเย็นมาก กลุ่มควันประกอบด้วยมีเทนที่แข็ง

ส่วนโค้งและดาวบริวารของดาวเนปจูน
หลังจากที่ได้มีการค้นพบว่า ดาวยูเรนัสมีวงแหวน คนเริ่มมองหาวงแหวนรอบๆดาวเนปจูนเขาใช้กล้องโทรทัศน์มองดูดาวเนปจูนเมื่อมัน เคลื่อนใกล้ดาวฤกษ์ ถ้าดาวเนปจูนมีวงแหวนมันก็จะผ่านด้านหน้าของดาวฤกษ์ วงแหวนแต่ละวงจะตัดแสงของดาวฤกษ์ชั่วขณะหนึ่ง ในปี 1981 นักคณิตศาสตร์คนหนึ่งได้เห็นการริบหรื่ของดาวฤกษ์ ตั้งแต่นั้น คนบางคนได้เห็นการริบหรื่แต่บางคนไม่เห็นอะไรเลย บางมีดาวเนปจูนอาจมีวงแหวนที่เป็นชิ้นส่วนที่แตกออกเป็นชิ้นๆมันอาจมีส่วน โค้งสั้นๆ แทนที่จะเห็นวงแหวนทั้งวง ส่วนโค้งจะหมุนรอบดาวเนปจูน

ดาวบริวาร
นักดาราศาสตร์ได้พบดาวบริวารสองดวงที่หมุนรอบดาวเนปจูน ดาวดวงหนึ่งมีขนาดเล็กชื่อว่า Neried ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 300 ไมล์ และหมุนรอบห่างจากดาวเนปจูน 3,475,000 ไมล์ ดาวบริวารดวงอื่นๆของดาวเนปจูนคือดาว Triton มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,100 ไมล์เป็นดาวบริวารที่ใหญ่เป็นที่สี่ ดาว Triton อาจมีบรรยากาศ มันอาจมีมหาสมุทรมีเธนและไนโตรเจนมันหมุนรอบดาวเนปจูนโดยห่างจากดาวเนปจูน เป็นระยะทาง 220,625 ไมล์ ดาว Triton หมุนรอบดาวเนปจูนในทิศทางตรงกันข้ามจากดาวบริวารส่วนใหญ่ มันยังเคลื่อนไหวเข้าไกล้ดาวเนปจูนในเวลา 10 ล้าน ถึง 100 ล้านปี มันอาจปะทะกับดาวเนปจูนหรือมันอาจแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆและก่อตัวเป็นรูปวง แหวนขนาดกว้างล้อมรอบดาวเนปจูน

ผู้แสดงความคิดเห็น ๗‹4‘ๅ=BฑภL]l“ วันที่ตอบ 2011-03-17 12:05:59 IP : 118.172.87.88


ความคิดเห็นที่ 54 (2162318)

อาจานเอ้ อุตส่าห์เจียดเวลาอันยุ่งเหยิงมาเขียนสาธยาย ได้ตั้งเยอะแยะ

นับถือ นับถือจริง ๆ  ขอบคุณ ที่ถ่ายทอดวิชาแบบเปิดกว้าง

ผู้แสดงความคิดเห็น สินสมุทร วันที่ตอบ 2011-03-19 23:19:19 IP : 223.205.85.41


ความคิดเห็นที่ 55 (2168150)

 ตามมาเป็นแฟนคลับ เอ้ย ลูกศิษย์คะ

ผู้แสดงความคิดเห็น แฟนคลับ อันดับที่เท่าไหร่ไม่รู้ วันที่ตอบ 2011-04-08 22:51:37 IP : 122.197.231.43


ความคิดเห็นที่ 56 (2168212)

ช่วงนี้ไม่ว่างพิมพ์ลงอ่ะคับ  ทั้งๆที่เขียนไว้เยอะแล้ว เพราะตอนนี้ผมอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง เร่ร่อนจรจัดยังไงก็ไม่รู้  กำลังแก้ชะตาชีวิตตนเองอยู่คับ

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...ขออภัยในบางลีลา วันที่ตอบ 2011-04-09 10:49:42 IP : 118.172.75.32


ความคิดเห็นที่ 57 (2171292)

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...มาว่ากันต่อ วันที่ตอบ 2011-04-21 16:01:29 IP : 118.172.64.244


ความคิดเห็นที่ 58 (2174617)

ดาวเสาร์( Saturn)

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีความสวยงาม จากวงแหวนที่ล้อมรอบ เมื่อดูในกล้องโทรทรรศน์จะเห็นวงแหวน ซึ่งทำให้ดาวเสาร์มีลักษณะแปลกกว่าดาวดวงอื่นๆ ดาวเสาร์มีองค์ประกอบคล้ายดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่มีลมพายุพัดแรงความเร็วถึง 1,125 ไมล์ต่อชั่วโมง มีขนาดใหญ่รองจากดาวพฤหัสบดี ถ้านับวงแหวนเข้าไปด้วย จะมีขนาดเท่าดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีความหนาแน่นน้อยที่สุด กล่าวคือมีความหนาแน่นเพียง 0.7 กรัมต่อลูกบาศก์ เซนติเมตร ซึ่งน้อยกว่าความหนาแน่นของน้ำ ดังนั้นหากมีน้ำจำนวนมากรองรับ ดาวเสาร์ก็จะลอยน้ำได้ เนื่องจากดาวเสาร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 2 เท่าของระยะดาวพฤหัสบดีจากดวงอาทิตย์ จึงใช้เวลานานเกือบ 30 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ แต่ดาวเสาร์หมุนรอบตัวเองเร็วมาก จึงทำให้โป่งออกทางด้านข้างมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น สามารถสังเกตได้แม้ในภาพถ่ายขนาดเล็ก

 

   วงแหวนของดาวเสาร์เป็นก้อนหินและน้ำแข็งสกปรก กล่าวคือ น้ำแข็งช่วยยึดฝุ่นและก้อนหินสกปรกเข้าด้วยกัน ก้อนน้ำแข็งสกปรกมีขนาดต่างๆ กัน และมีเป็นจำนวนมาก น้ำแข็งสะท้อนแสงดวงอาทิตย์ได้ดี เราจึงเห็นวงแหวนชัดเจน วงแหวนบางมาก และประกอบด้วยวงแหวนจำนวนหลายพันวง แต่สังเกตได้จากโลกเห็นเป็นชั้นๆ ชั้นนอกสุด เรียกว่า วงแหวน A วงสว่างที่สุดอยู่ใกล้ดาวเสาร์เรียกว่า วงแหวน B ช่องว่างระหว่างวงแหวนทั้งสองนี้เรียกว่า ช่องแคสสินี (Cassini Division) ซึ่งตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลิ Giovani Cassini ซึ่งพบวงแหวนนี้เป็นคนแรกในปี 1675 ภายในวงแหวน B มีวงแหวนที่ไม่สว่างชื่อวงแหวน C ภาพจากการถ่ายของยานไพโอเนียร์และวอยเยเจอร์แสดงให้เห็นว่า มีวงแหวนมากกว่าสามวง คือมีวงแหวน D ซึ่งมองเห็นเลือนๆ นอกจากนี้ยังมีวงแหวนชั้นนอกที่มีลักษณะแคบๆ เรียกว่าวงแหวน F และวงแหวน G ด้านหลังของวงแหวนทั้งสองนี้เป็นวงแหวนขนาดกว้าง แต่มีความเลือนคือ วงแหวน E วงแหวนทั้งหมดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 375,000 ไมล์ วงแหวนแต่ละวงบางมากเมื่อเทียบกับความกว้าง เปรียจประดุจดังแผ่นกระดาษ ดังนั้นเมื่อด้านข้างของวงแหวนหันมาทางโลก เราจึงมองไม่เห็นวงแหวนของดาวเสาร์ วงแหวนดาวเสาร์เอียงจากระนาบทางโคจรของดาวเสาร์รอบดวงอาทิตย์เป็นมุม 27 องศา เมื่อดูจากโลกจึงเห็นวงแหวนไม่เหมือนกันในแต่ละตำแหน่ง ถ้าวงแหวนหันด้านข้างมาทางโลกเราจะมองไม่เห็นวงแหวนเลย แต่จะเห็นเป็นเส้นสีดำพาดผ่านดาวเสาร์ ยานอวกาศวอยเยเจอร์ 1 และวอยเยเจอร์ 2 ที่ผ่านเฉียดดาวเสาร์พบว่า วงแหวนของดาวเสาร์ด้านที่ได้รับแสงแดดมีอุณหภูมิ -180 องศาเซลเซียส ส่วนด้านมืดอุณหภูมิต่ำกว่านี้เป็น -200 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำขนาดนี้น้ำแข็งจะไม่ระเหยหรือกลายเป็นไอเลย วงแหวนที่เห็นจากโลกเป็น 3 ชั้นนั้น แท้ที่จริงประกอบด้วยวงแหวนเล็กๆ จำนวนเป็นล้านๆ วง วงแหวนก่อรูปร่างอย่างไรและเมื่อไร? วงแหวน C และ B ได้ก่อตัวเมื่อดาวเสาร์หรือดาวเคราะห์อื่นๆ ในระบบสุริยะเริ่มเกิดขึ้น ดาวเคราะห์ก่อตัวด้วยก๊าซและอนุภาคที่ลอยในอวกาศ วงแหวนอาจก่อตัวโดยอนุภาคน้ำแข็งที่ตกค้าง วงแหวน A อาจเป็นเศษที่เหลือของดาวบริวารที่เป็นน้ำแข็งของดาวเสาร์ ประมาณ 10 ล้านปีมาแล้ว ดวงจันทร์อาจแตกแยกออกจากกัน ชิ้นส่วนทั้งหมดของดวงจันทร์อาจกระจัดกระจายเป็นวงแหวนกว้าง ในขณะที่มันหมุนรอบดาวเคราะห์

ก่อนปี 1980 มีคนคิดว่าดาวเสาร์มีดาวบริวารสิบดวง หลังจากนั้นยานวอยเยเจอร์ ได้พบดาวบริวารเพิ่มขึ้นอีกหลายดวง ปัจจุบันเราคิดว่าดาวเสาร์มีดาวบริวารอื่นๆ นอกเหนือจากดาวบริวารเหล่านี้ ดาวบริวารชั้นในประกอบขึ้นด้วยน้ำแข็ง และบางดวงก็ประกอบด้วยหิน มันปกคลุมด้วยหินและรอยแตกดาวบริวารชั้นในบางดวงมีการหมุนที่ผิดปกติ ดาวบริวารที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ ดาว Inner Shepherd และดาว Outer Shepherd มันจะหมุนรอบแต่ละข้างของวงแหวน F แรงโน้มถ่วงของดาวบริวารมีผลกระทบต่อส่วนของวงแหวน F มันทำให้ลอนบิดเบี้ยวเป็นรูปเกลียวที่ประหลาด มีกลุ่มดาวบริวารชั้นในที่หมุนรอบดาวเสาร์เช่นเดียวกัน บ้างก็หมุนในระยะห่างกัน บ้างก็หมุนใกล้กัน บ้างก็หมุนไปข้างหน้าหรือข้างหลังของดาวอื่น แต่มันไม่ปะทะกัน    ดาวบริวารชั้นนอกดวงแรกของดาวเสาร์ มีชื่อเรียกว่า Titan เป็นดาวบริวารที่ใหญ่เป็นที่สองในระบบสุริยะ ดาว Titan มีชั้นบรรยากาศ มันเป็นสิ่งผิดปกติที่ดาวบริวารถูกล้อมรอบด้วยชั้นของแก๊ซเหมือนกับดาว เคราะห์ ยานวอยาเจอร์ 1 ได้เข้าไปใกล้ดาว Titan เมื่อมันบินผ่านดาวเสาร์ในปี 1980 ภาพที่ถูกส่งกลับมาแสดงให้เห็นว่าถูกปกคลุมด้วยหมอกสีส้ม แต่ไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวได้เลย บรรยากาศประกอบด้วยแก๊ซไนโตรเจนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแก๊ซที่สำคัญในบรรยากาศของโลก เรามีแก๊ซออกซิเจนในโลกด้วย แต่ดาว Titan ไม่มีแก๊ซเหล่านี้ แต่มันมีแก๊ซมีแทนซึ่งเป็นแก๊ซธรรมชาติที่เราใช้สำหรับการหุงต้มในโลก หมอกเกิดจากการตกผลึกของของแหลวสีส้มในบรรยากาศของดาว Titan ของแหลวที่มีสีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อรังสีจากดวงอาทิตย์กระทบกับแก๊ซ พื้นผิวของดาว Titan มีความเย็นมาก เป็นที่เข้าใจกันว่าพื้นผิวอาจปกคลุมด้วยมหาสมุทรของมีเทนแหลว หรือหิมะสีน้ำตาลที่ประกอบขึ้นจากมีเทน ภายในดาว Titan ประกอบด้วยน้ำแข็งซึ่งมีแกนเป็นหิน

นักดาราศาสตร์ต้องการค้นหาสิ่งต่างๆ ให้มากกว่านี้เกี่ยวกับดาว Titan ยานอวกาศอาจไปถึงที่นั่นในศตวรรษหน้า มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่ครั้งหนึ่งโลกของเรามีสภาพคล้ายดาว Titan ถัดจากดาว Titan จะมีบริวารอีกสามดวง ดาวดวงแรกคือ Hyperion ซึ่งเป็นดาวขนาดเล็กประกอบด้วยน้ำแข็งมีรูปร่างคล้ายถั่ว ดาว Hyperion อาจเป็นซากที่เหลือของดาวบริวารดวงใหญ่ที่แตกกระจายออกมา ถัดจากดาว Hyperion คือดาว Iapetus ดาวบริวารประหลาดดวงนี้จะมืดในด้านหนึ่งและสว่างอีกด้านหนึ่ง โดยสีที่เกิดจากหินซึ่งมาจากภายในดาว ดาวบริวารที่อยู่ชั้นนอกที่สุดเรียกว่า Phoebe มันจะหมุนไปรอบๆ Phoebe อาจจะเป็นดาวเคราะห์น้อยซึ่งถูกดึงดูดโดยแรงโน้มถ่วงของดาวเสาร์  

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...ทยอยตามกันมา วันที่ตอบ 2011-05-05 00:38:04 IP : 118.172.94.152


ความคิดเห็นที่ 59 (2174655)

 

              ขณะที่ ยานกาลิเลโอลำแม่ยังเคลื่อนที่รอบดาวพฤหัสบดี บางรอบผ่านใกล้บริวารขนาดใหญ่ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ก่อนที่จะถึงดาวพฤหัสบดี ยานอวกาศกาลิเลโอได้ผ่านใกล้ดาวเคราะห์น้อย 2 ดวง คือ แกสปรา เมื่อ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 และไอดา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ยานอวกาศกาลิเลโอได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัสบดีครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 และได้ผ่านเฉียดบริวารไอโอเพียง 900 กิโลเมตร โดยมีกำหนดเข้าใกล้ไอโอมากกว่านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ไอโอ คือบริวารที่พบว่ามีภูเขาไฟกำลังจะระบิดอยู่หลายแห่ง เมื่อผ่านเข้าใกล้ยูโรปา ซึ่งเล็กกว่าดวงจันทร์ของโลกเราเล็กน้อย พบว่าพื้นผิวของยูโรปาปกคลุมด้วยน้ำแข็งที่หนาทึบ มีหลุมบ่อไม่มาก สันนิษฐานว่า เมื่ออุกกาบาตวิ่งเข้าชนจนเกิดหลุมแล้ว น้ำที่เกิดขึ้นจะแข็งตัวกลบหลุมอีกครั้งหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสงสัยว่า กระบวนการที่น้ำแข็ง ละลาย -> แข็งตัว -> ละลาย อาจเกิดขึ้นบนยูโรปาด้วยสาเหตุอื่น เช่นแรงน้ำขึ้น - น้ำลง แกนิมีดเป็นก้อนน้ำแข็งสกปรกขนาดใหญ่ เป็นบริวารดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี และขอบระบบสุริยะ มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธ มีพื้นผิวที่ขรุขระเหี่ยวย่น และมีหลุมอุกกาบาตหลายแห่ง มีลักษณะไม่เหมือนบริวารดวงอื่น แกนิมีดอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีจึงมีแรงน้ำขึ้น-น้ำลงจากดาวพฤหัสบดีค่อนข้างมาก คัลลิสโตมีขนาดโตพอๆ กับดาวพุธ เป็นบริวารที่มีหลุมอุกกาบาตมากกว่าบริวารดวงอื่น พื้นผิวน้ำแข็งของคัลลิสโตอาจหนาแน่นกว่าของแกนิมีดหลายเท่า น้ำแข็งอาจลงไปลึกหลายร้อยกิโลเมตร อุณหภูมิของคัลลิสโตต่ำมาก เครื่องมือวัดอุณหภูมิในยานวอยเอเจอร์ วัดอุณหภูมิเวลากลางวันของคัลลิสโตได้ -118 องศา เซลเซียส ในขณะเวลากลางคืนอุณหภูมิเป็น -193 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ยานอวกาศกาลิเลโอผ่านใกล้ไอโอ โดยอยู่สูงจากภูเขาไฟของไอโอเพียง 1,000 กิโลเมตร แต่โชคไม่ดีที่เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค จึงไม่สามารถบันทึกข้อมูลที่น่าสนใจได้ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2543 ยานอยู่ห่างไอโอเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น

 

ปัจจุบันทราบข้อมูลทางกายภาพของดาวพฤหัสดังนี้คือ

ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ โดยเฉลี่ย 778.34 ล้านกิโลเมตร(5.203 a.u.)
ใกล้สุด 740.9 ล้านกิโลเมตร (4.951 a.u.)
ไกลสุด 815.7 ล้านกิโลเมตร (5.455 a.u.) Eccentricity 0.048 คาบการหมุนรอบตัวเอง 9 ชั่วโมง 50 นาที 30 วินาที คาบการหมุนรอบดวงอาทิตย์ 11.86 ปีบนโลก ด้วยความเร็ว 13.06 กิโลเมตรต่อวินาที ระนาบโคจร (Inclination) 1:18:15.8 องศา แกนเอียงกับระนาบโคจร 3:04 องศา มวล 317.89 เท่าของโลก เส้นผ่านศูนย์กลาง 143,884   กิโลเมตร (โลก 12,756 กิโลเมตร ที่เส้นศูนย์สูตร) แรงโน้มถ่วง 2.64 เท่าของโลก ความเร็วหลุดพ้น 60.22 กิโลเมตรต่อวินาที ความหน่าแน่น 1 ต่อ 1.33 เมื่อเทียบกับน้ำ ความสว่างสูงสุด -2.9

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...ตามๆกันมา วันที่ตอบ 2011-05-05 09:25:10 IP : 118.172.94.152


ความคิดเห็นที่ 60 (2189737)

มีคนเมล์มาถามว่า ทำไมไม่เขียนต่อ  ก็ต้องขอตอบว่า ช่วงนี้ มฤตยู/อาพอลลอน = เนปจูน  เลยงดไปสักพัก  ไม่งั้นคนเขียนจะป่วย  อ่ะคับ  ใครเขียนตำราโหรฯ ช่วงนี้จะงอมแงม โรคภัยเล่นงาน  อ้วนๆแก่ๆ แบบผมน่ะ..นกรู้..เล่นแต่งโคลง ไปพลางๆก่อน แก้ดวง

ผู้แสดงความคิดเห็น ภารต...ขออำไพในบางลีลา วันที่ตอบ 2011-06-24 18:04:04 IP : 118.172.89.177


ความคิดเห็นที่ 61 (2210182)

อาจารย์ภารต  ค่ะ

บทความนี้ อีกนานป่าวค่ะที่จะเขียนต่ออ่านแล้วติดใจเลย  ดีมากๆ หาอ่านที่อื่นไม่ได้แล้ว ขอบคุณค่ะ

เอ

ผู้แสดงความคิดเห็น เอ วันที่ตอบ 2011-08-28 12:27:41 IP : 192.168.1.129


ความคิดเห็นที่ 62 (2275527)

 ขุดๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น เล่าต่อสิครับ วันที่ตอบ 2012-05-24 23:27:35 IP : 110.169.224.185


ความคิดเห็นที่ 63 (4001846)

เป็นบทความที่ดีมากเลยครับผมทำธุรกิจเกี่ยวกับค้าขายตุ๊กตาเลยชอบและได้อ่านเรื่อโหราสาธ

ผู้แสดงความคิดเห็น finlacyshop วันที่ตอบ 2016-05-14 19:13:17 IP : 183.89.21.65



<< ก่อนหน้า 1 [2]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.